top of page
สารเนื้อเดียวและสารเนื้อผสม
เนื้อสาร หมายถึง สิ่งที่เป็นสมบัติทุกส่วนของสาร สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า
การจำแนกสารโดยใช้เนื้อสารเป็นเกณฑ์เป็น วิธีที่นิยมใช้กันมาก เนื่องจากสามารถแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสารได้มากกว่าวิธีอื่น ๆ โดยตามเกณฑ์นี้จะจำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ 2 กลุ่ม คือ
1. สารเนื้อเดียว หมายถึง สารที่มีองค์ประกอบชนิดเดียวหรือหลายชนิดผสมกันอยู่อย่างกลมกลืน มองเห็นเป็นเนื้อเดียวกันตลอด อาจมีหลายสถานะที่แสดงสมบัติเหมือนกันทุกประการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1. สารบริสุทธิ์ คือ สารเนื้อเดียวที่มีองค์ประกอบเพียงชนิดเดียวมีสมบัติเหมือนกัน ได้แก่ ธาตุและสารประกอบ มีสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีคงที่
(1) ธาตุ หมายถึง สารบริสุทธิ์เนื้อเดียวที่ประกอบด้วยอะตอมชนิดเดียว ไม่สามารถแยกหรือสลายออกเป็นสารอื่นได้ เช่น เงิน ทอง เหล็ก คาร์บอน ออกซิเจน ไฮโดรเจน เป็นต้น ธาตุ แบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ ธาตุโลหะ ธาตุอโลหะ ธาตุกึ่งโลหะ
(2) สารประกอบ หมายถึง สารบริสุทธิ์เนื้อเดียวที่เกิดจากการรวมตัวกันของธาตุตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป มีสมบัติเฉพาะตัวและแตกต่างไปจากธาตุเดิม อัตราส่วนของการรวมกันของธาตุจะคงที่เสมอ
1.2. สารละลาย หมายถึง สารเนื้อเดียวที่เกิดจากสารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันโดยอัตราส่วนของการผสมไม่คงที่และสารที่เกิดขึ้นจาก การผสมนี้จะแสดงสมบัติที่ต่างไปจากสารเดิม เช่น เงินเหรียญ น้ำเชื่อม น้ำเกลือ เป็นต้น
2. สารเนื้อผสม หมายถึง สารที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันตลอดทุกส่วน สารที่เกิดจากสารตั้งแต่ 2 ชนิดมารวมกัน โดยมีอัตราส่วนที่ไม่แน่นอน อาจเป็นสารที่อยู่ในสถานะเดียวกันหรือต่างสถานะมารวมกัน ได้สารเนื้อผสม เช่น พริกกับเกลือ น้ำกับแป้ง ฝุ่นละอองในอากาศ คอนกรีต ตะกอนในน้ำ ลอดช่องน้ำกะทิ เป็นต้น แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 สารแขวนลอย คือ ของเหลวที่มีอนุภาคของของแข็งขนาดเล็กแทรกอยู่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 10-4 เซนติเมตร ซึ่งเป็นสารเนื้อผสมที่มีขนาดอนุภาคขนาดใหญ่ ทำให้สามารถมองเห็นส่วนผสมได้อย่างชัดเจน ง่ายต่อการแยกออก เช่น น้ำแป้ง น้ำโคลน เป็นต้น
2.2. คอลลอยด์ คือ สารเนื้อผสมที่มีความกลมกลืน มีขนาดอนุภาคเล็กกว่าสารแขวนลอยแต่ใหญ่กว่าสารละลาย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-7 -10-4 เซนติเมตร เช่น สบู่เหลว โฟมล้างหน้า นมสด เป็นต้น
bottom of page